สวนดาดฟ้า (green roof) ถือเป็นสิ่งที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะนอกจากจะช่วยเรื่องความสวยงาม และความร่มรื่นชวนผ่อนคลายแล้ว ในมุมของธุรกิจ สวนดาดฟ้ายังสามารถช่วยเสริมภาพลักษณ์ความใส่ใจสิ่งแวดล้อมให้กับองค์กร และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวบ้านและอาคารได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
สำหรับคุณผู้อ่านที่อยากรู้จักสวนดาดฟ้าให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในด้านข้อดี การคิดวางแผน หรือวัสดุที่ใช้ ทางแมทติพลายก็ขออาสาเป็นคนอธิบาย ให้คุณผู้อ่านสามารถเข้าใจได้แบบง่ายๆ เองค่ะ
ข้อดีของสวนดาดฟ้า
สวนดาดฟ้ามีข้อดีและลักษณะเด่นในด้านต่างๆ ดังนี้
- เพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยเฉพาะบ้านและอาคารที่ตั้งอยู่ในเขตเมือง ซึ่งจะช่วยเสริมความสวยงามในสไตล์ธรรมชาติ และช่วยสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย ให้กับผู้คนในบริเวณนั้นได้เป็นอย่างดี
- ลดอุณหภูมิบ้านและอาคาร พืชในสวนดาดฟ้ามีส่วนช่วยลดความร้อนให้กับตัวบ้านและอาคารได้ ด้วยน้ำที่คายออกทางใบ และร่มเงาที่เกิดจากตัวพืช
- ลดมลพิษอากาศ พืชสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และสร้างออกซิเจนให้แก่อากาศได้ ซึ่งนอกจากนี้แล้ว พืชบางชนิดยังสามารถดูดซับสารพิษอื่น นอกเหนือจากคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกด้วย
- เพิ่มพื้นที่ใช้สอย การมีสวนอยู่บนดาดฟ้ายังช่วยจูงใจผู้อยู่อาศัย ให้อยากขึ้นไปใช้พื้นที่ในส่วนนั้นมากขึ้น เมื่อเทียบกับดาดฟ้าที่ขาดความร่มรื่น หรือมีบรรยากาศไม่ดี
การจัดสวนบนดาดฟ้า ต้องเช็คอะไรบ้าง
ก่อนจัดสวนดาดฟ้า เราควรรู้เสียก่อน ว่าจะต้องเตรียมความพร้อมอย่างไร และจะต้องคำนึงถึงสิ่งใดบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น น้ำรั่วซึม ต้นไม้เฉาตาย ฯลฯ ซึ่งก็จะมีสิ่งที่ควรเช็คดังนี้
1. โครงสร้างอาคาร
อาคารที่จะทำสวนดาดฟ้า ต้องแข็งแรงเพียงพอที่จะรับน้ำหนักของสวนได้ ซึ่งจะประกอบไปด้วยน้ำหนักของต้นไม้ ดิน น้ำ ของตกแต่ง และวัสดุจำเป็นอื่นๆ โดยเบื้องต้นนั้นแนะนำว่า โครงสร้างอาคารควรจะรับน้ำหนักได้อย่างน้อย 1-2 ตัน/ตรม. ซึ่งจุดนี้ เราควรปรึกษาวิศวกรหรือผู้ที่เกี่ยวข้องให้มั่นใจเสียก่อน
2. ตำแหน่งการวาง
ในกรณีที่ใช้ต้นไม้หรือของตกแต่งที่มีน้ำหนักมาก เราควรจัดวางสิ่งเหล่านี้ให้อยู่ใกล้หัวเสาหรือคาน เพราะจะเป็นจุดที่รับน้ำหนักได้มาก ไม่ควรจัดวางให้อยู่ในจุดที่ไม่มีโครงสร้างพาดผ่าน
3. ระบบน้ำประปา
การทำสวนดาดฟ้า ระบบน้ำประปาจะต้องพร้อม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาพืชขาดน้ำและเฉาตาย แนะนำว่าควรมีก็อกน้ำอย่างน้อย 2 จุด ซึ่งอาจใช้ระบบรดน้ำแบบสายยาง หรือแบบอัตโนมัติก็ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการและงบประมาณที่มี
4. ระบบระบายน้ำ
เมื่อพูดถึงพื้นที่ดาดฟ้า สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือระบบระบายน้ำ เพราะถ้าดาดฟ้าระบายน้ำได้ไม่ดี สิ่งที่ตามมาก็คือปัญหารั่วซึม และโครงสร้างเสียหาย โดยเบื้องต้นนั้น แนะนำให้มีจุดระบายน้ำอย่างน้อย 2 จุด และควรมีระบบ overflow เผื่อไว้สำหรับกรณีที่ท่อตัน
5. ระบบกันซึม
อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับดาดฟ้าก็คือระบบกันซึม โดยเฉพาะตรงพื้นและผนัง ซึ่งถ้าระบบกันซึมไม่ดี ก็อาจก่อให้เกิดปัญหารั่วซึม สีลอกร่อน หรืออาจหนักจนถึงขั้นทำให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างอาคารก็ได้เช่นกัน
6. ระบบสายไฟ
การวางระบบสายไฟบนดาดฟ้า ถือเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยสวิตซ์และปลั๊กไฟ ควรอยู่ในตำแหน่งที่ไม่โดนฝน น้ำ หรือแดด สายไฟควรใส่ท่อเพื่อกันความร้อน ความชื้น และปัญหาหนูกัดแทะ และทางที่ดี ก็ควรจะมีเบรกเกอร์ตัดไฟติดตั้งไว้ เพื่อป้องกันปัญหาไฟฟ้าลัดวงจรด้วย
7. ความลึกของดิน
ถ้าเราใช้ดิน โดยทั่วไปแล้วควรให้มีความลึกอย่างน้อย 40 ซม. หรือถ้าเป็นต้นไม้ใหญ่ ก็อาจจะให้ลึกมากถึง 1 เมตร เพื่อให้เพียงพอต่อการยึดของราก ซึ่งจุดนี้ เราจะต้องดูให้เหมาะสมกับชนิดของพืชที่จะใช้ด้วย
8. พืชที่ใช้
เราต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของพันธุ์พืชที่จะใช้ เช่น ทนลมทนฝนได้มั้ย ทนแดดได้ขนาดไหน ต้องการน้ำขนาดไหน น้ำหนักเท่าไร มีความต้องการพิเศษอะไรมั้ย เป็นต้น
9. ของตกแต่ง
อีกสิ่งที่มองข้ามไม่ได้สำหรับการทำสวนดาดฟ้าก็คือของตกแต่งที่จะใช้ โดยเราควรพิจารณาถึงความทนทานของวัสดุตกแต่งต่างๆ ว่าทนแดด ทนลม ทนฝน ที่อาจจะต้องเจอได้ขนาดไหน หรือต้องมีการดูแลอะไรเป็นพิเศษหรือไม่
10. การบำรุงรักษา
สวนดาดฟ้าก็เหมือนกับสวนอื่นๆ ซึ่งก็คือต้องได้รับการดูแลบำรุงอยู่เรื่อยๆ เพื่อไม่ให้โทรมหรือมีปัญหา เช่น การจัดการขยะและเศษใบไม้ ไม่ให้เข้าไปอุดตันระบบระบายน้ำ การให้น้ำ ปุ๋ย และสารอาหารแก่พืช ตลอดจนการตัดแต่งกิ่งก้าน เพื่อให้พืชดูสวยและมีสุขภาพดี เป็นต้น
วัสดุสำคัญในการติดตั้งสวนดาดฟ้า
วัสดุเหล่านี้เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย สำหรับการจัดสวนดาดฟ้า โดยจะมีอะไรบ้างนั้น เราไปดูกันเลย
1. ระบบกันซึม (waterproofing system)
อย่างที่ทราบกันดี ว่ากันซึมกับดาดฟ้านั้นเป็นของคู่กัน ยิ่งถ้าเราจะทำสวนบนดาดฟ้า ซึ่งต้องมีการรดน้ำด้วยแล้ว เรายิ่งต้องให้ความใส่ใจกับเรื่องกันซึมมากยิ่งขึ้นไปอีก
ในจุดนี้ เราสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กันซึมที่มีคุณภาพ ตามความเหมาะสมได้เลย เช่น ระบบกันซึมแบบทา (liquid waterproof) หรือแบบแผ่น (waterproof membrane) เพื่อให้สวนดาดฟ้าและอาคารของเราสวยทน ไร้ปัญหารั่วซึม
2. แผ่นตะแกรงระบายน้ำ (drainage cell)
สำหรับการทำสวนดาดฟ้าที่ใช้ดิน แผ่นตะแกรงระบายน้ำ หรือที่เรียกว่า drainage cell จะถือเป็นตัวช่วยชั้นดี ที่จะช่วยกระจายน้ำหนักของดิน และเอื้อให้สามารถระบายน้ำได้ดีขึ้น
สวนดาดฟ้าที่ใช้ดินปริมาณมาก จำเป็นจะต้องมีอัตราการระบายน้ำที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาน้ำขังล้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริเวณโดยรอบได้
3. แผ่นใยสังเคราะห์ (geotextile)
แผ่นใยสังเคราะห์ หรือที่เรียกว่า geotextile จะเป็นสิ่งที่ใช้คู่กับ drainage cell เพื่อกรองดินและเศษอนุภาคต่างๆ ไม่ให้ตกลงไปสู่ระบบท่อระบายน้ำ ซึ่งจะช่วยลดการอุดตันของท่อระบายน้ำในบริเวณดาดฟ้าได้
4. ชั้นดินปลูก (planting mix)
เราจะลงชั้นดินปลูก หลังจากที่ติดตั้งระบบกันซึม พร้อมกันกับ drainage cell และ geotextile เรียบร้อยแล้ว ซึ่งปริมาณความหนาของชั้นดิน จะต้องเพียงพอต่อการยึดรากของชนิดพืชที่เราจะใช้
5. พืช (plant)
พืชจะถือเป็นชั้นสุดท้ายของการทำระบบสวนดาดฟ้า ซึ่งเราควรพิจารณาเลือกพันธุ์พืชที่จะใช้ ตามความเหมาะสมของสภาวะแวดล้อม
ยกตัวอย่างเช่น เราอาจเลือกปลูกพันธุ์พืชที่ทนแดดบนดาดฟ้า สำหรับในประเทศเรา เนื่องจากจะต้องรับแดดเกือบทั้งวัน ซึ่งการเลือกพืชที่ทนแดดนี้ จะทำให้เรามีสวนดาดฟ้าที่คงความสวยงามไว้ได้ในระยะยาว
จบแล้วนะคะกับบทความความรู้เรื่องสวนดาดฟ้า หรือที่เรียกกันว่า green roof ทีนี้คุณผู้อ่านก็คงจะเข้าใจ และมองเห็นภาพมากขึ้นแล้วนะคะ สำหรับบทความนี้ ทางแมทติพลายต้องขอตัวลาไปก่อน ไว้เจอกันใหม่ค่ะ
สำหรับท่านใดที่กำลังมองหา drainage cell หรือ geotextile ทางแมทติพลายก็ขอฝากสินค้าคุณภาพดี ราคาเป็นมิตรของเรา ไว้ให้พิจารณากันด้วยนะคะ